พระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (ววน.) มาตรา 44 ได้กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีหน้าที่ เสริมสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานในระบบ ววน. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. จึงให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างกำลังคนให้หน่วยงานในระบบ ววน. ได้แก่ การพัฒนาบุคลากรด้านการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมที่เข้มแข็ง สามารถส่งมอบผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ การจะบรรลุภารกิจดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยกำลังสำคัญของบุคลากรทุกระดับ โดยเฉพาะ บุคลากรระดับปฏิบัติการ ด้านการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการวางแผนและดำเนินงานเกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนแผนงาน/โครงการด้านวิจัยและนวัตกรรม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน 2564 ที่ผ่านมา สกสว. โดย สำนักพัฒนาระบบ ววน. ด้านการส่งเสริมความเข้มแข็งของหน่วยงานในระบบ ววน. ได้เปิดพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานในระบบ ววน. ให้สามารถออกแบบแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานดังกล่าวผ่านกิจกรรมรูปแบบต่างๆ อาทิ การสำรวจข้อมูลผ่านแบบสอบถาม เรื่อง แนวทางการพัฒนาศักยภาพบุคลากรระดับปฏิบัติการ ด้านการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม ของหน่วยรับงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ควบคู่กับ การจัดให้หน่วยงานได้มีส่วนร่วมในการระดมความคิดเห็นผ่านการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อหาแนวทางการพัฒนาศักยภาพ บุคลากรระดับปฏิบัติการ ด้านการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม ของหน่วยรับงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน.
จากผลการสำรวจและการระดมความคิดเห็นดังกล่าว (สำนักพัฒนาระบบ ววน., 2564) สะท้อนให้เห็นว่า นอกจากเรื่องการสนับสนุนให้บุคลากรระดับปฏิบัติการ ด้านการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมมีความก้าวหน้าในสายวิชาชีพ/อาชีพ มีการกำหนดภาระงานที่ชัดเจนแล้ว เรื่องการจัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพความรู้ให้บุคลากรระดับปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม นับเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งระดับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเห็นสอดคล้องกันว่า ควรดำเนินการเพื่อให้การบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมในหน่วยงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยได้มีการระบุประเด็นที่ควรเป็นจุดเน้นในการเสริมศักยภาพของบุคลากรทั้งในส่วนของงาน ดังนี้้
ต้นน้ำ ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางนโยบาย แผนงาน เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ กลุ่มประเด็น ของงานวิจัยและนวัตกรรม ทั้งระดับหน่วยงาน ระดับแผนด้าน ววน. และระดับประเทศ การติดตามผลการพิจารณาของแหล่งทุนและแจ้งนักวิจัย การประสานนักวิจัยสาขาต่างๆ รวมถึงเครือข่าย หรือภาคีในการวิจัยกับหน่วยงานอื่นๆ ความรู้ความสามารถในการจัดตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กลั่นกรองโครงการวิจัย และความรอบรู้เกี่ยวกับแหล่งทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงความรู้และทักษะในการประสานงานแหล่งทุนดังกล่าว เป็นต้น
กลางน้ำ ได้แก่ ความรู้และทักษะในด้านกระบวนการกำกับดูแล ติดตามความก้าวหน้าโครงการวิจัยและนวัตกรรม กระบวนการตรวจสอบ ประเมินผลการวิจัย และการตรวจรับงานงวดให้มีคุณภาพ ความรอบรู้และสามารถพัฒนาระบบผู้ทรงคุณวุฒิ/ผู้เชี่ยวชาญในการสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยและนวัตกรรม อาทิ กลไกการให้คำปรึกษาพี่เลี้ยงในการสนับสนุนการทำวิจัย และ กลไกผู้ทรงคุณวุฒิในการตรวจรับงานงวดได้อย่างเหมาะสม เป็นต้น รวมถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกำหนด ประกาศหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการงานวิจัยและการเบิกจ่ายเงินที่ชัดเจน และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับด้านการจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ ครุภัณฑ์ต่างๆเพื่อสนับสนุนการวิจัย
ปลายน้ำ ได้แก่ ความรู้ความเข้าใจด้านการสื่อสารและเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบาย กฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับ มาตรการ ในการสนับสนุนด้านการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยและการนาผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ รวมถึงระบบการติดตามความก้าวหน้าในการผลักดันเรื่องดังกล่าว และทักษะด้านการรวบรวมองค์ความรู้และจัดการความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรม เหล่านี้ นับเป็นประเด็นสำคัญในลำดับต้นๆ ที่ผู้แทนหน่วยงานทั้งระดับบริหารและระดับปฏิบัติการได้เสนอไว้สำหรับเป็นแนวทางการพัฒนาศักยภาพบุคลากรระดับปฏิบัติการฯ ที่จะสามารถตอบสนองความต้องการที่สำคัญและจำเป็นต่อการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม ของหน่วยรับงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน.
การจะพัฒนาบุคลากรด้านการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมที่เข้มแข็งต้องอาศัยเครื่องมือในการเสริมให้บุคคลากรมีความรู้และทักษะ 2 ส่วน (Borghans, Weel & Weinberg, 2014) คือ ความรู้และทักษะในสายวิชาชีพ (Professional) หรือ Hard skills อีกส่วนหนึ่ง คือ ความรู้และทักษะเฉพาะบุคคล หรือ Soft skills ซึ่งความรู้และทักษะทั้ง 2 ส่วนนี้ควรปรากฏอยู่ทั้งในระยะต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม
มหาวิทยาลัยในประเทศไทยแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่ม 1 การวิจัยระดับแนวหน้าของโลก (Global and Frontier Research) กลุ่ม 2 การพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างวัตกรรม (Technology and Innovation) กลุ่ม 3 การพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ (Area-Based and Community) กลุ่ม 4 การผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพหรือสาขาจำเพาะ (Development of Professionals and Specialists) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยในกลุ่มใดล้วนมีโครงการวิจัยหลากหลาย ทั้งโครงการวิจัยเชิงพื้นที่ โครงการวิจัยพื้นฐาน โครงการวิจัยแบบบริการวิชาการ โครงการวิจัยเชิงพาณิชย์ การบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมจึงต้องเป็นระบบขับเคลื่อนให้การส่งมอบผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบของโครงการวิจัยที่หลากหลายดังกล่าวให้เป็นไปอย่างราบรื่น
จากการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์การบริหารจัดการในระบบ ววน. ที่มุ่งผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม และเห็นผลสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว ในการนำวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมสู่การพัฒนาประเทศ และมีการปรับโครงสร้างการจัดสรรทุนสนับสนุนการวิจัย ใน 2 รูปแบบ คือ Fundamental Fund และ Strategic Fund ผ่านการดำเนินงานของ สกสว. และหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัย (Program Management Unit; PMU) ทั้ง 9 PMU ทำให้ระบบการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม ในหน่วยงานระดับปฏิบัติการ (Function Unit) เช่น มหาวิทยาลัย กระทรวง กรม กอง ต่างๆ ในระบบ ววน. ต้องมีการปรับแนวทางการบริหารจัดการให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ตลอดจนบุคลากรในระบบ ววน. ก็ต้องได้รับการพัฒนาทักษะให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรระดับปฏิบัติการ (Project/Program Officer; PO) ซึ่งเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนระบบ ววน. การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้หน่วยงานระดับปฏิบัติการต้องมีการพัฒนาระบบของหน่วยงานเพื่อรองรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ววน. ของประเทศ ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยพะเยา ได้รับทุนที่เป็นโครงการวิจัยเชิงพื้นที่จากแหล่งทุนในระบบ ววน. คือ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและสร้างนวัตกรรม (บพค.) และหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เฉลี่ยมากกว่า 10 ทุนต่อปี โครงการวิจัย เชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Research) และโครงการวิจัยแบบบริการวิชาการ (จากแหล่งทุนในระบบ ววน.) เฉลี่ยปีละ 10 ทุน โครงการวิจัยพื้นฐานเฉลี่ยปีละ 100 ทุน (จากแหล่งทุน Fundamental Fund) ในขณะที่โครงสร้างบุคลากรระดับหัวหน้างานของกองบริหารงานวิจัยมีจำนวน 5 คน รวมผู้อำนวยการกองบริหารงานวิจัย บุคลากรระดับปฏิบัติการ 26 คน ใน 4 แผนก คือ งานธุรการ งานทุนวิจัยและบริการวิชาการงานส่งเสริมการตีพิมพ์และเผยแพร่ และงานมาตรฐานงานวิจัยและสารสนเทศ ตัวอย่างบทบาทและหน้าที่ของแต่ละแผนกเป็นดังนี้ 1) งานธุรการ เช่น งานสารบรรณ ประชุมและพิธีการ บริหารงานบุคคล การเงินและบัญชี 2) งานทุนวิจัยและบริการวิชาการ เช่น การดูแลทุนวิจัยตามนโยบายประเทศ Unit of Excellence ทุนวิจัยภายนอก การพัฒนานักวิจัย 3) งานส่งเสริมการตีพิมพ์และเผยแพร่ เช่น การจัดทำวารสาร รางวัลการตีพิมพ์เผยแพร่ และ 4) งานมาตรฐานงานวิจัยและสารสนเทศ เช่น การประสานงานเครือข่ายวิจัย เครือข่ายความร่วมมือ การจัดทำข้อมูลเพื่อเข้าสู่ Rankings เป็นต้น จะเห็นได้ว่าช่องว่างที่เกิดขึ้น คือ จำนวนบุคลากรด้านการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมไม่สัมพันธ์กับจำนวนทุน และความหลากหลายของแหล่งทุน รวมทั้งความรู้และทักษะในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี หรือนวัตกรรม เพื่อการบริหารจัดการยังมีความจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเพิ่มเติม (Reskills/Upskills/New skills) ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมถึงภาระงานของบุคลากรระดับหัวหน้างาน และระดับปฏิบัติการที่ไม่ได้จำกัดอยู่ที่งานบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม สถานการณ์นี้ย่อมส่งผลต่อการส่งมอบผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบของโครงการวิจัยไปยังแหล่งทุน ดังที่ Hughes & Kitson (2012) และ ศุภมาสชุมแก้ว (2564) พบว่า บุคลากรที่มีความสามารถบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การบริหารโครงการวิจัยและหน่วยงานวิจัยประสบความสำเร็จ
ด้วยสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มหาวิทยาลัยพะเยา ได้ออกแบบการพัฒนาสมรรถนะสำหรับบุคลากรระดับปฏิบัติการและระดับหัวหน้างาน ในภาพรวมของมหาวิทยาลัย โดย กำหนดสมรรถนะสำหรับบุคลากรไว้ 7 ข้อ คือ 1. มุ่งผลสัมฤทธิ์ (Achievement Motivation) 2. บริการที่ดี (Service Mind) 3. เชี่ยวชาญในงานอาชีพ (Expertise) 4. ทำงานเป็นทีม (Teamwork) 5. พัฒนาความก้าวหน้าด้านวิชาชีพบุคลากรสายสนับสนุน (Career Path) 6. ยึดมั่นในคุณธรรมและจรรยาบรรณ (Integrity) และ 7. มุ่งสานความคิดสร้างจิตใจ สร้างสิ่งที่ดีให้ได้รับการยอมรับจากชุมชน สังคม ประเทศชาติ และนานาชาติ การพัฒนาบุคลากรระดับปฏิบัติการและระดับหัวหน้างานดำเนินการผ่านโครงการและหลักสูตรที่กองการเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยพะเยาจัดขึ้น เช่น การส่งเสริมความก้าวหน้าตามสายงานการพัฒนาบุคลากรระดับปฏิบัติการและระดับหัวหน้างานเข้าสู่ตำแหน่งสูงขึ้น การสนับสนุนการทำวิจัยเพื่อการพัฒนางานประจำ (R2R) หรือ โครงการพัฒนาบุคลากรระดับหัวหน้างาน ฯลฯ ซึ่งเป็นต้นทุนทางประสบการณ์ของมหาวิทยาลัยพะเยาในการพัฒนาบุคลากรระดับหัวหน้างาน และระดับปฏิบัติการ ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและมุ่งผลสัมฤทธิ์
อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์การจัดทำหลักสูตรพัฒนาบุคลากรให้สามารถบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมได้อย่างมีระบบ พบว่า เป็นหลักสูตรสำหรับพัฒนาศักยภาพบุคลากรระดับปฏิบัติการ ด้านการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม (Project/Program Manager) ซึ่งหลักสูตรสำหรับบุคลากรระดับปฏิบัติการมีน้อยมาก ทั้งที่บุคลาการระดับปฏิบัติการเป็นหนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จของการบริหารจัดการ(ศุภมาส ชุมแก้ว, 2564) โครงการนี้จึงมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับการเพิ่มพูนทักษะการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมไปที่บุคลากรระดับปฏิบัติการ
หลักสูตรเปรียบเสมือนหัวใจสำคัญของการจัดการเรียนรู้ให้กับบุคลากร เพราะหลักสูตรเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ เพิ่มพูนทักษะ การทำความสงสัยให้กระจ่าง พัฒนาความคิด จนกระทั่งบุคลากรสามารถนำความรู้และทักษะที่เหมาะสมไปประกอบวิชาชีพได้ (วารีรัตน์ แก้วอุไร, 2564) หลักสูตรจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญและจำเป็นในการเสริมให้บุคคลากรมีความรู้และทักษะ 2 ส่วนดังกล่าวข้างต้น
การจัดทำหลักสูตรและการนำหลักสูตรไปใช้พัฒนาบุคลากร นอกจากจะมีประโยชน์ในการสร้างกำลังคนที่ตอบสนองต่อวิชาชีพ ยังส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่าย กลไกสร้างความสัมพันธ์เกื้อหนุนระหว่างบุคลากร นักวิจัย แหล่งทุน และเครือข่ายให้สัมฤทธิ์ผลตามที่วางแผนไว้ (Makopoulou, Neville, Ntoumanis & Thomas, 2019)
ทั้งนี้ เพื่อให้การพัฒนาศักยภาพ บุคลากรระดับปฏิบัติการ ด้านการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม ของหน่วยรับงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลตามที่ตั้งเป้าหมายและเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (ววน.) มาตรา 44 คณะทำงานจึงจัดทำโครงการ หลักสูตรพัฒนาศักยภาพบุคลากรระดับปฏิบัติการ ด้านการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม (Project/Program Officer: PO Development Curriculum) ที่มีรูปแบบและกระบวนการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการที่เหมาะสมต่อการพัฒนาขีดความสามารถให้บุคลากรระดับปฏิบัติการที่มีบทบาทในการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม ของหน่วยงาน/องค์กร สถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นกลไกการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมของหน่วยรับงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. ได้อย่างมีรูปธรรม